พฤศจิกายน 23, 2024

ตำนานปาท่องโก๋

deep-fried-dough-stick

“ตำนานปาท่องโก๋ เพื่อการสาปแช่ง”
แทบไม่น่าเชื่อเมื่อ “ปาท่องโก๋” ที่เราเห็นอยู่ในกระทะทองเหลืองทุกเช้า ทานคู่กับกาแฟก่อนออกไปทำงาน หรือจิ้มนมข้นหวานก่อนไปเรียน จะเกี่ยวข้องกับคู่ผัวเมียที่ “ขายชาติ” จนกลายเป็นที่โจษจันกันไปทั่ว

“ปาท่องโก๋” ที่เราเรียกกันจนติดปาก แท้ที่จริงแล้ว เพี้ยนมาจากคำว่า “ปั้กถ่งโก๋” ในภาษาจีน ซึ่งคำว่า ปั้ก แปลว่า สีขาว ส่วนคำว่า ถ่ง แปลว่า น้ำตาล และคำว่า โก๋ แปลว่า ขนม

ปั๊กถ่งโก๋ จึงแปลรวมกันได้ว่า ขนมน้ำตาลทรายขาว ดังนั้น ′ซาลาเปาทอด′น่าจะเป็นเจ้าของชื่อ ปั๊กถ่งโก๋ มากกว่า ส่วนชื่อของ ปาท่องโก๋จริงๆ นั้น คนจีนเรียกว่า ′อิ่วจาก้วย′ เนื่องจากในสมัยก่อน เมื่อแม่ค้าชาวจีนที่ขายปั๊กถ่งโก๋ มักจะขายอิ่วจาก้วยคู่กันด้วย พอคนขายตะโกนร้องขายขนมสองชนิดนี้ อาจทำให้คนไทยเข้าใจผิดเรียกชื่อสลับกัน คิดว่า เจ้าแป้งสองชิ้นทอดติดกันนี้มีชื่อว่า “ปาท่องโก๋” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

นอกจากนี้ “ปาท่องโก๋” ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งการสาปแช่งคู่สามีภรรยาที่ทรยศขายชาติอีกด้วย

มีตำนานเล่าต่อกันว่า ในสมัยราชวงศ์ซ้อง มีแม่ทัพนายหนึ่งชื่อ “งักฮุย” เป็นคนที่รักชาติยิ่งชีพ และมีความเก่งกาจสามารถรบชนะข้าศึกเป็นจำนวนมาก จนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว จนขุนนาง “ฉินข้วย” และ “ภรรยาแซ่หวัง” ซึ่งเป็นคนโลภ ได้ถูกฝ่ายตรงข้ามใช้เงินหว่านล้อมให้ทรยศต่อชาติเป็นพวกได้สำเร็จ เข้ากราบทูลเท็จต่อองค์ฮ่องเต้ว่า งักฮุยคิดการใหญ่ และแอบหลบหนีกองทัพในยามสงคราม ทำให้งักฮุยถูกประหารชีวิต

เมื่อข่าวแพร่ออกไป ชาวบ้านต่างรู้สึกโกรธแค้น จึงใช้วิธีการสาปแช่งด้วยการปั้นแป้งมาประกบติดกัน เพื่อเป็นตัวแทนของ “ฉินข้วยและภรรยา” ขุนนางขายชาติ ก่อนหย่อนใส่น้ำมันเดือดพล่าน เมื่อแป้งสุกแล้วก็นำมากัดกินด้วยความโกรธเกลียด เพื่อให้สาสมกับการกระทำดังกล่าว และเรียกขนมแป้งแห่งความเกลียดชังนั้นว่า “อิ่วจาก้วย” หมายถึง น้ำมันทอด “ฉินข้วย” นั่นเอง