ประเทศไทยมีที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากประเทศจีนมากนัก แม้ว่าจะไม่มีพรมแดนติดต่อกัน แต่ก็ไม่อยากที่จะเดินทาง คนไทยหลายคนก็มีเชื้อสายจีน ซึ่งในอดีตนั้นเราจะเรียกชาวจีนที่อพยพออกจากดินแดนประเทศจีนว่า คนจีนโพ้นทะเล
คำว่า หัวเฉียว (華僑) มีความหมายว่า คนจีนที่เกิดในดินแดนประเทศจีนแต่อพยพออกไปยังดินแดนอื่นๆ และอีกคำที่ใกล้เคียงกันคือ คำว่า หัวอี้ (華裔) ซึ่งหมายถึง ลูกหลานของบรรพบุรุษจีนที่เกิดยังดินแดนอื่น ด้วยลักษณะนิสัยของชาวจีนที่มักจะอยู่รวมกลุ่มกัน (การต้องใช้ชีวิตในต่างแดนอาจมีเรื่องไม่สะดวก การอยู่รวมกันทำให้สามารถพึ่งพาอาศัย ช่วยเหลือกันและกันได้) ซึ่งทำให้เกิดย่านชุมชนชาวจีน หรือที่รู้จักกันดีในชื่อว่า China Town
เจิ้งเหอ
เมื่อย้อนไปดูประวัติศาสตร์แล้ว กลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลมีมาโดยตลอด แต่ที่เริ่มเป็นที่รู้จักและบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เริ่มจากการเดินเรือครั้งใหญ่ของนายพลเจิ้งเหอ แม่ทัพเรือในสมัยราชวงศ์หมิง ที่นำกองกำลังเรือขนาดใหญ่ออกเดินทางไปในดินแดนต่างๆ เช่น เอเชีย แอฟริกา (หรือที่กำลังค้นคว้าเพิ่มเติมว่าอาจจะเดินทางไปยังทวีปอเมริกาด้วยก็เป็นได้) ในแต่ละที่ที่ไปถึง ชาวเรือที่มาด้วยหลายคนก็เลือกที่จะตั้งหลักปักฐานในดินแดนเหล่านั้น และได้กลายเป็นชาวจีนโพ้นทะเลกลุ่มแรกๆ
ต่อมาในศตวรรษที่ 19 สมัยราชวงศ์ชิง มีการติดต่อกับประเทศตะวันตกมากขึ้น และในช่วงนั้นประเทศตะวันตกมีความต้องการแรงงานจำนวนมากเพื่อพัฒนาประเทศ จึงพาชาวจีนไปเป็นแรงงานจำนวนมาก เช่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น จึงเป็นการอพยพครั้งใหญ่อีกครั้งของกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเล
หลังจากการล่มสลายของราชวงศ์ชิง พรรคก๊กมินตั๋งได้เข้ามาบริหารประเทศแทน แต่ก็เกิดความขัดแย้งกับพรรคคอมมิวนิสต์จนเกิดเป็นสงครามกลางเมือง ซึ่งมีผู้คนจำนวนมากหนีภัยสงครามไปยังดินแดนอื่นๆ รวมถึงในช่วงปลายที่พรรคคอมมิวนิสต์กำลังจะได้รับชัยชนะ กลุ่มปัญญาชนหลายคนไม่มั่นใจในความปลอดภัยของตนจึงอพยพไปยังดินแดนอื่นมากขึ้น
และยังมีเหตุการณ์อื่นอีกที่ทำให้ชาวจีนจำนวนหนึ่งเลือกที่จะอพยพออกจากดินแดนประเทศจีน เช่น การปฏิวัติวัฒนธรรม การคืนสู่ประเทศจีนของฮ่องกงและมาเก๊า เป็นต้น
สำหรับในประเทศไทยนั้นมีการติดต่อค้าขายกับประเทศจีนมาโดยตลอด และมีคำกล่าวยกย่องว่า ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ เพาะปลูกสิ่งใดก็ขึ้น ระยะทางก็ไม่ไกลมากนัก ทำให้เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่ชาวจีนจะอพยพมาตั้งหลักปักฐานโดยมากแล้วจะมาจากมณฑลทางตอนใต้ เช่น กวางตุ้ง ซึ่งชาวจีนในไทยส่วนมากจะเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว แต่ก็มีกลุ่มอื่นอีกเช่น กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ไหหลำ