เมษายน 27, 2024

เทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง

%e0%b9%80%e0%b8%97%e0%b8%a8%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a5%e0%b9%84%e0%b8%ab%e0%b8%a7%e0%b9%89%e0%b8%9a%e0%b9%8a%e0%b8%b0%e0%b8%88%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%87

บะจ่าง หรือ ขนมจ้าง (ภาษาอังกฤษ : Zongzi; จีน: 肉粽 ข้าวห่อไส้เนื้อ, จีนกลางออกเสียง 粽子 จ้งจึ คือข้าวห่อด้วยใบไม้)  เทศกาล วันไหว้ขนมจ่าง (บะจ่าง) หรือ เทศกาลตวนอู่เจี๋ย  หรือ เทศกาลตวงโหงว เป็นเทศกาลที่สืบทอดกันมาแต่โบราณกาลของสาธารณรัฐประชาชนจีน ตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินทางจันทรคติ หรือ “โหงวเหว่ยโจ่ว” เป็นการระลึกถึงวันที่ คุกง้วน หรือ ชีหยวน หรือ จูหยวน , Qu Yuan (340-278 ปีก่อนคริสต์ศักราช) กวีผู้รักชาติแห่งรัฐฉู่ นอกจากนี้ในประเทศจีน บริเวณแม่น้ำฉางเจียง (แยงซีเกียง) , ฮ่องกง, ไต้หวัน, มาเก๊า ยังมีการละเล่น แข่งเรือมังกร (Dragon Boat Festival) จัดอย่างยิ่งใหญ่ภายในวันนี้อีกด้วย อีกทั้งทางรัฐบาลจีนยังกำหนดให้วันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 นี้เป็น วันกวีจีน (The Chinese Poet’s Day) เนื่องจากชีหยวน นับเป็นอีกผู้หนึ่งที่เป็นกวีคนสำคัญของจีน

โดยความเป็นมาของเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง หรือขนมจ้าง ตามตำนานเล่าว่า ในสมัยชุนชิว-จั้นกั๋ว ประเทศจีนถูกแบ่งเป็นแคว้นเล็ก ๆ จำนวนมาก แคว้นฉินเป็นแคว้นที่เข้มแข็งที่สุดในขณะนั้น ส่วนแคว้นฉู่เป็นแคว้นที่อ่อนแอและเล็ก ซึ่งมักถูกแคว้นฉินกดขี่ข่มเหง “ชีหยวน” ซึ่งเป็นขุนนางตงฉิน รับราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ถือเอาประโยชน์ของราษฎรเป็นที่ตั้ง เขาห่วงใยประเทศชาติบ้านเมืองของตนมาก จึงเสนอให้แคว้นฉู่ร่วมมือกับแคว้นฉีเพื่อต่อต้านแคว้นฉิน แต่ก็ถูกขุนนางกังฉินคอยใส่ร้ายป้ายสีต่อองค์ฮ่องเต้เสมอ ๆ

จนฮ่องเต้เริ่มมีใจเอนเอียง ชีหยวนรู้สึกทุกข์ระทมตรมใจมาก จึงได้แต่งกลอนขึ้นเพื่อคลายความทุกข์ใจ กลอนบทนั้นมีชื่อว่า “หลีเซา” ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความห่วงใยบ้านเมืองและราษฎร จนต่อมาฮ่องเต้แคว้นฉู่ถูกกลลวงของแคว้นฉิน และสวรรคตในแคว้นฉิน รัชทายาทองค์ต่อมาจึงได้ขึ้นครองราชบัลลังก์แทน

หลังจากที่ฮ่องเต้องค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทรงหลงเชื่อคำยุยงของเหล่าขุนนางกังฉินพวกนั้น ในที่สุดจึงได้มีพระบรมราชโองการให้เนรเทศชีหยวนออกจากแคว้นฉู่ไป ชีหยวนเศร้าโศกเสียใจมาก หลังจากเดินทางรอนแรมมาถึงแม่น้ำเปาะล่อกัง (บางตำราว่าเป็นแม่น้ำแยงซีเกียง) ชีหยวนจึงได้ตัดสินใจกระโดดน้ำตาย เพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกจงรักภักดีแต่ประเทศชาติและความคับแค้นใจที่มีต่อสังคม ในวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 เมื่อ 278 ปีก่อนคริสต์ศักราช

ชาวบ้านที่รู้เรื่องการตายของชีหยวน ระลึกถึงความดีจึงได้ออกเรือเพื่อตามหาศพ ในขณะที่ค้นหาพวกเขาก็เตรียมข้าวปลาอาหารไปโปรยลงแม่น้ำด้วย นัยว่าเพื่อล่อให้สัตว์น้ำมากิน จะได้ไม่ไปกัดกินซากศพของชีหยวน หลังจากนั้นทุกปีเมื่อครบรอบวันตาย ชาวบ้านจะนำเอาอาหารไปโปรยลงแม่น้ำเปาะล่อกัง เมื่อทำต่อมาในระยะเวลาได้สองปี ก็มีชาวบ้านผู้หนึ่งฝันเห็นชีหยวนที่มาในชุดอันสวยงาม กล่าวขอบคุณเหล่าชาวบ้านที่นำเอาอาหารไปโปรยให้เพื่อเซ่นไหว้ แต่เขาบอกว่าอาหารถูกเหล่านั้นได้ถูกสัตว์น้ำกินเสียจนหมด เนื่องจากบริเวณนั้นมีสัตว์น้ำอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ชีหยวนจึงแนะให้นำอาหารเหล่านั้นห่อด้วยใบไผ่ หรือใบจากก่อนนำไปโยนลงน้ำ ในปีต่อมาชาวบ้านต่างก็ทำตามที่ชีหยวนแนะนำ ชีหยวนก็ได้มาเข้าฝันชาวบ้านอีกว่าได้ทานอาหารมากขึ้น แต่ก็ยังคงโดนสัตว์น้ำแย่งไปกินได้ ชาวบ้านต้องการให้ชีหยวนได้ทานอาหารที่พวกเขาเซ่นให้อย่างอิ่มหนำสำราญจึง พวกเขาจึงได้ถามชีหยวนว่าควรทำเช่นไรดี จึงได้คำแนะนำว่าเวลาที่จะนำอาหารไปโยนลงแม่น้ำ ให้ตกแต่งเรือเป็นรูปมังกร เมื่อสัตว์น้ำทั้งหลายได้เห็นก็จะนึกว่าเป็นเครื่องเซ่นของพญามังกร จะได้ไม่กล้าเข้ามากิน ประเพณีการแข่งเรือมังกร และประเพณีการไหว้ขนมจ้าง (บ๊ะจ่าง) จึงเกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้

เทศกาลของการไหว้บะจ่าง คนจีนจะไหว้ในตอนเช้า โดยไหว้ด้วยธูป 3 ดอก หรือ 5 ดอก การไหว้ด้วยธูป 5 ดอก เพื่อระลึกถึงครูบาอาจารย์ พ่อแม่ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะเข้าหลัก 5 ธาตุ หรือ โหงวเฮ้ง ของจีน ประกอบด้วย ธาตุดิน ทอง น้ำ ไม้ และไฟ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวกับวิถีชีวิตโดยตรง

เทศกาลบะจ่างเป็น 1 ใน 3 เทศกาลสำคัญของชาวจีน คือเทศกาลตรุษจีน เทศกาลไหว้พระจันทร์ และเทศกาลบะจ่าง ซึ่งชาวจีนทั้งแผ่นดินใหญ่แล้วชาวจีนในประเทศต่างๆ ต่างให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก