เมษายน 26, 2024

เทศกาลหยวนเซียว(โคมไฟ)

                เทศกาลหยวนเซียวซึ่งเป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญของจีนกว่า 2,000 ปี โดยตามปฏิทินทางจันทรคติของจีน จะนับเอาวันที่พระอาทิตย์ โลกและพระจันทร์มาอยู่ในระนาบเดียวกันเป็นวันแรกของปี หรือขึ้นหนึ่ง 1 ค่ำเดือนอ้าย ซึ่งในสมัยโบราณจะเรียกเดือนอ้ายว่า “หยวน” (元) ส่วนคำว่า”เซียว”(宵)หมายถึงกลางคืน  เทศกาลนี้จึงหมายถึงคืนที่พระจันทร์เต็มดวงเป็นครั้งแรกของปี (วันตรุษจีนคือวันปีใหม่ของจีน)

478b169dd98f4e0bb67dad647eae452f

ตำนาน”หยวนเซียว”
                    ว่ากันว่าเมื่อนานมาแล้ว เป็นยุคที่มีสัตว์ร้ายมากมายเที่ยวทำร้ายผู้คน ทำให้มนุษย์ต้องรวมตัวกันต่อสู้ กระทั่งวันหนึ่ง ได้มีวิหคสวรรค์บินหลงมายังโลก แล้วถูกบรรดานายพรานพลั้งมือฆ่าตาย จนทำให้เง็กเซียนฮ่องเต้ทรงพิโรธ มีราชโองการให้เหล่าขุนพลสวรรค์เดินทางมาเพื่อปล่อยเพลิง เผาทำลายมนุษย์และทรัพย์สินทั้งหลายให้หมดสิ้น ในคืน 15 ค่ำ เดือนอ้าย ในครั้งนั้นธิดาของเง็กเซียนฮ่องเต้ เกิดสงสารไม่อาจทนเห็นผู้คนต้องประสบเภทภัย จึงแอบขี่เมฆบินลงมายังโลกมนุษย์ เพื่อเตือนภัยล่วงหน้า เมื่อนั้นจึงมีผู้เฒ่าคนหนึ่งได้เสนอแผนการว่า ในคืนวัน 14 ค่ำ -16 ค่ำเดือนอ้าย ให้ทุกคนแขวนโคมประดับ จุดประทัดเสียงดัง พร้อมกับจุดพลุ เช่นนี้แล้ว เง็กเซียนฮ่องเต้จะเข้าใจว่าคนบนโลกถูกเผาหมดแล้วทุกคนต่างเห็นด้วย แล้วแยกย้ายกันไปเตรียมการตามแผนนั้น ในวัน 15 ค่ำ เมื่อเง็กเซียนฮ่องเต้ทรงทอดพระเนตรลงมา ทรงเห็นว่าบนโลกมนุษย์แดงเถือกไปหมดแล้ว และยังมีเสียงดังโหวกเหวก ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 วัน จึงคิดว่าโลกถูกไฟเผาไปแล้ว เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทำให้ทุกปีเมื่อถึง 15 ค่ำเดือนอ้าย ทุก ๆ บ้านก็จะมีการแขวนโคมไฟ และจุดประทัดเพื่อระลึกถึงวันดังกล่าวบ้างก็ว่า เทศกาลหยวนเซียว เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก(ก่อนคริสตกาล 206 ปี- ค.ศ.25) หลังจากที่มีการปราบกบฏเสร็จสิ้น ฮ่องเต้ฮั่นเหวินตี้รู้สึกปิติยินดีกับความสงบสุขที่เกิดขึ้น จึงต้องการจะจัดงานฉลองร่วมกับประชาชนขึ้นในวัน 15 ค่ำเดือนอ้ายนี้

ส่วนประเพณีการชมโคมไฟ เล่ากันว่าเริ่มขึ้นเมื่อ 1,900 ปีที่แล้ว ในยุคของจักรพรรดิหมิงตี้ แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันตก จักรพรรดิองค์นี้มีความศรัทธาในศาสนาพุทธ และทรงได้ยินมาว่าในวันขึ้น 15 ค่ำของเดือนอ้าย พระสงฆ์จะเข้าไปสักการะพระธาตุและจุดประทีปบูชาเพื่อแสดงความศรัทธา ดังนั้น จึงมีพระราชบัญชาให้วัดและวัง รวมไปถึงประชาชนทำการแขวนโคมไฟ จนเป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมชมโคมไฟอย่างแพร่หลาย

มาถึงราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) ประเพณีการชมโคมไฟก็ยิ่งมีความพิถีพิถันมากขึ้น ภายในพระราชวัง หรือตามท้องถิ่น ทุกหนทุกแห่งล้วนมีการแขวนโคมไฟ ทั้งยังพัฒนาไปเป็นตึกโคมไฟ ต้นไม้โคมไฟ วงล้อโคมไฟ ในยุคนี้ ประเพณีการชมโคมไฟมีต่อเนื่องกันถึง 3 วัน และเมื่อล่วงเข้าราชวงศ์ชิง ก็มีการเพิ่มการเชิดสิงโต เชิดมังกร แข่งเรือเข้าไปจนทำให้เทศกาลนี้มีสีสันมากยิ่งขึ้น

วันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้ายตามปฏิทินจันทรคติของจีนเป็นเทศกาลหยวนเซียว ซึ่งเป็นเทศกาลเก่าแก่อีกเทศกาลหนึ่งของจีน และเป็นเทศกาลที่ต่อจากเทศกาลตรุษจีน

คืนของเทศกาลหยวนเซียวเป็นคืนแรกของปีใหม่ที่เห็นพระจันทร์เต็มดวง คืนนั้น มีประเพณีแขวนโคมไฟ ดังนั้น เทศกาลหยวนเซียวจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า“เทศกาลโคมไฟ” การชมโคมไฟและการกินขนมหยวนเซียวเป็นกิจกรรมสำคัญของเทศกาลหยวนเซียว เหตุใดจึงต้องแขวนโคมไฟในเทศกาลหยวนเซียว

เล่ากันว่า เมื่อปี 180 ก่อนคริสตกาล จักรพรรดิฮั่นเหวินตี้ของราชวงศ์ฮั่นขึ้นครองราชย์ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้าย เพื่อฉลองเรื่องนี้ จักรพรรดิฮั่นเหวินตี้ทรงกำหนดวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้ายเป็นเทศกาลโคมไฟ พอถึงคืนนั้น พระองค์จะเสด็จออกจากวังไปร่วมสนุกกับประชาชน วันนั้น ไม่ว่าบ้านเล็กบ้านใหญ่ ตรอกซอกซอยล้วนแขวนโคมไฟหลากสีที่มีรูปลักษณะต่าง ๆ ให้ชมกัน ถึงปี 104 ก่อนคริสตกาล เทศกาลหยวนเซียวได้กำหนดเป็นเทศกาลสำคัญแห่งชาติ ทำให้การฉลองเทศกาลหยวนเซียวมีขนาดใหญ่โตยิ่งขึ้น ตามข้อกำหนด สถานที่สาธารณะต่าง ๆ และทุกบ้านต้องประดับโคมไฟ โดยเฉพาะย่านการค้าและศูนย์วัฒนธรรมต้องจัดงานโคมไฟขนาดใหญ่ ไม่ว่าผู้หญิงผู้ชาย เด็กหรือผู้เฒ่าล้วนจะไปชมโคมไฟ ทายปริศนาโคมไฟและเชิดโคมไฟมังกรตลอดคืน ต่อมา ประเพณีนี้ได้สืบทอดกันมาทุกยุคทุกสมัย ตามการบันทึก ปีค.ศ. 731 สมัยราชวงศ์ถังเคยทำภูเขาโคมไฟสูง 7 เมตรที่ประกอบด้วยโคมไฟกว่า 5 หมื่นดวงตั้งอยู่ในเมืองฉางอัน เมืองหลวงของราชวงศ์ถัง

โคมไฟที่แขวนอวดในเทศกาลหยวนเซียวส่วนมากจะทำด้วยกระดาษสีต่างๆ จะทำเป็นรูปภูเขา สิ่งก่อสร้าง คน ดอกไม้ นก และสัตว์ชนิดต่าง ๆ โคมไฟ “โจ่วหม่าเติง” เป็นโคมไฟที่มีเอกลักษณ์ของจีนอย่างเด่นชัด โคมเวียน “โจ่วหม่าเติง” เป็นของเล่นชนิดหนึ่ง มีประวัติกว่าพันปีแล้ว ภายในโคมไฟได้ติดตั้งกงล้อ พอจุดเทียนในโคมไฟ กระแสอากาศที่ได้รับความร้อนจากเปลวเทียนจะดันกงล้อที่ติดกระดาษรูปคนขี่ม้า ในอิริยบถต่างๆหมุนไปตามกงล้อ เงาของรูปคนขี่ม้าจะสะท้อนอยู่บนกระดาษชั้นนอกของโคมไฟ มองแล้วเสมือนม้ากำลังวิ่งห้อตะบึง

การกินขนมหยวนเซียวเป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งของเทศกาลหยวนเซียว สมัยราชวงศ์ซ่ง ประชาชนนิยมกินขนมพื้นบ้านชนิดหนึ่งในเทศกาลโคมไฟ ขนมชนิดนี้มีรูปกลม ทำด้วยแป้งข้าวเหนียว ข้างในมีไส้หวาน ภาคเหนือของจีนเรียกขนมชนิดนี้ว่า “หยวนเซียว” ส่วนภาคใต้เรียก “ทังหยวน” หรือ “ทังถวน”

ปัจจุบัน ขนมหยวนเซียวมีไส้หลายสิบชนิด เช่น ซันจา พุทรา ถั่วแดง โหงวยิ้น งา เนยและช็อกโกแลตเป็นต้น รสชาติของหยวนเซียวในพื้นที่ต่าง ๆ จะแตกต่างกัน นอกจากชมโคมไฟและกินขนมหยวนเซียวแล้ว เทศกาลหยวนเซียวยังมีกิจกรรมการละเล่นต่าง ๆ มากมาย เช่น ระบำไม้ต่อขา รำพัด เชิดสิงโตเป็นต้น โดยเฉพาะการเชิดสิงโต มิเพียงแต่ในประเทศจีนเท่านั้น ไม่ว่าแหล่งชุมชนชาวจีนในแห่งหนตำบลใดของโลกก็ตาม พอถึงเทศกาลสำคัญ ๆ ก็จะจัดการแสดงเชิดสิงโตทั้งนั้น การเชิดสิงห์โตแบ่งเป็นสำนักใต้กับสำนักเหนือ การเชิดสิงโตของสำนักใต้เน้นอิริยาบถและเทคนิคท่วงท่า ส่วนมากใช้สองคนเชิด ส่วนสำนักเหนือจะเน้นความสง่าผ่าเผย ปกติจะมี 10 กว่าคนกระทั่งหลายสิบคนเชิดด้วยกัน ขณะเชิดสิงโตนั้น จะมีดนตรีพื้นเมืองของจีนเล่นประกอบด้วย ไม่ว่าผู้แสดงหรือผู้ชม ต่างสนุกสนานกันถ้วนหน้า ทำให้บรรยากาศของเทศกาลหยวนเซียวคึกคักยิ่ง

bawlai-dessert03

บัวลอย ขนมที่นิยมทานในเทศกาล เป็นสัญลักษณ์ของความปรองดอง
นอกจากนั้น กว่า 2,000 ปีที่ผ่านมา เทศกาลหยวนเซียว โดยนัยยะแล้วยังเป็นเทศกาลแห่งคู่รักอีกด้วย เนื่องจากสตรีในอดีต ที่ส่วนใหญ่จะเก็บตัวอยู่แต่ในเรือนชาน ไม่ค่อยมาร่วมกิจกรรมนอกบ้าน ในเทศกาลนี้ จะได้มีโอกาสออกมาชมการประดับโคมไฟ เล่นทายปริศนา ทำให้หนุ่มสาวทั้งหลาย มีโอกาสมองหาและเลือกคู่ครองในอนาคตของตนได้

สิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้ คือการรับประทานบัวลอยที่ทำจากแป้งข้าวเจ้า ภายในมีไส้ทั้งไส้หวานและไส้เค็ม ปั้นเป็นลูกกลมๆ แล้วนำไปต้มหรือนำไปทอด ในยุคแรก ชาวจีนเรียกขนมชนิดนี้ว่า浮圆子ฝูหยวนจื่อ (,浮-ลอย 圆子-ลูกกลมๆ) ต่อมาก็เรียกว่า 汤团ทังถวน(汤-น้ำแกง团-ลูกกลมๆ ) หรือ 汤圆ทังหยวน โดยมีความหมายเหมือนกัน ทั้งออกเสียงใกล้เคียงกัน และ 团圆เมื่อรวมกันแล้ว ก็ได้ความหมายถึงการอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันของคนในครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของแต่ละเทศกาลบนแดนมังกร

ทั้งนี้ เนื่องด้วยการรับประทานบัวลอยในคืนหยวนเซียว ปัจจุบันจึงมีการเรียกบัวลอยว่า หยวนเซียวด้วยเช่นกัน ดังนั้น คำว่าหยวนเซียวจึงพัฒนาจนมี 2 ความหมาย หนึ่งคือชื่อเทศกาล สองหมายถึงบัวลอยนั่นเอง