มีนาคม 28, 2024

พระพุทธศาสนาบนแผ่นดินจีน

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากเป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจากศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และศาสนาฮินดู ซึ่งประเทศจีนมีผู้นับถือพระพุทธศาสนามากที่สุดถึงเกือบ 400 ล้านคน ในขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้นับถือพระพุทธศาสนามากที่สุดเมื่อเทียบกับอัตราส่วนจำนวนประชากร

พระพุทธศาสนาในประเทศจีนส่วนใหญ่เป็นนิกายมหายาน ซึ่งมีประเพณี คำสอน และหลักความเชื่อที่แตกต่างจากนิกายเถรวาท เช่น เถรวาทเชื่อว่ามีพระพุทธเจ้าเพียงองค์เดียว แต่มหายานเชื่อว่ามีพระพุทธเจ้ามากมายมหาศาลเปรียบเสมือนเม็ดทรายบนชายหาด หรือการปรับกฏระเบียบต่างๆ และความเชื่อเรื่องพระโพธิสัตว์ แต่โดยเนื้อแท้แล้วทั้งสองนิกายก็มุ่งสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ แสวงหาการหลุดพ้น

original_amitabha

ในพุทธศตวรรษที่ 6 ได้มีการก่อตั้งนิกายมหายานอย่างเห็นได้ชัด ก่อนที่จะเผยแพร่เข้าสู่ประเทศจีน โดยมีหลักฐานว่าเริ่มเข้าสู่ประเทศจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น เมื่อจักรพรรดิเม่งเต้ส่งคณะฑูดจำนวน 18 คน เพื่อไปสืบพระพุทธศาสนาในประเทศจีน เมื่อเดินทางกลับได้พาพระกาศยปมาตังคะและพระธรรมรักษ์ รวมทั้งคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาอีกส่วนหนึ่งกลับมาด้วย เมื่อมาถึงจักรพรรดิเม่งเต้ได้สถาปนาวัดแป๊ะเป้ยี่หรือวัดม้าขาวขึ้น เพื่อเป็นที่อาศัยของพระทั้งสองรูป โดยตั้งชื่อวัดว่า ม้าขาวเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ม้าขาวที่บรรทุกพระคัมภีร์มา

ในช่วงแรกยังเป็นการนับถือกันในวงแคบ มีเพียงชนชั้นสูงเท่านั้น ประชาชนส่วนใหญ่ยังคนนับถือตามหลักลัทธิขงจื้อหรือลัทธิเต๋าอยู่ จนเมื่อโม่งจื้อ นักปราชญ์ผู้มีความสามารถได้แสดงให้เห็นถึงความจริงของพระพุทธศาสนา จึงทำให้มีผู้คนเลื่อมใสเป็นจำนวนมาก

การเผยแพร่พระพุทธศาสนาในยุคนั้นยังเป็นไปอย่างไม่มากนัก ขึ้นอยู่กับพระจักรพรรดิว่าให้ความนับถือศาสนาใด เมื่อมาถึงสมัยราชวงศ์เหนือ-ราชวงศ์ใต้ พระโพธิธรรมหรือที่คนไทยรู้จักในชื่อของ หลวงจีนตั๊กม้อ

ซึ่งเป็นพระสังฆปรินายก องค์ที่ 28 ที่เชื่อกันว่าสืบต่อมาจากพระมหากัสสปะในสมัยพุทธกาล ได้จาริกมายังประเทศจีน และได้เข้าเฝ้าจักรพรรดิเหลียงหวู่ตี้ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นองค์ศาสนูปถัมภกที่สำคัญของจีน แต่ภายหลังที่ท่านได้แสดงธรรมและสนทนาธรรมแล้ว ก็รู้ว่าองค์จักรพรรดิมิอาจที่จะเข้าใจธรรมขั้นสูงได้ เพราะความเชื่อในสมัยนั้นเชื่อว่าพระพุทธศาสนาเป็นเพียงการทำบุญ สร้างวัดวาอาราม และการพิมพ์พระคัมภีร์แผยแพร่เท่านั้น (ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้จักรพรรดิที่ไม่ดี รวมถึงขุนนางกังฉิน ขูดรีดเงินจากประชาชนว่าเพื่อเป็นการทำบุญ) พระโพธิธรรมได้เดินทางจากมาจนถึงวัดเส้าหลิน ณ ภูเขาซงซาน เขตแดนของราชวงศ์เว่ยเหนือ และสถาปนาแนวคิดทางฌานขึ้น (ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า เซน) นอกจากนี้มีตำนานเล่าว่าเมื่อท่านนั่งสมาธินานๆ จึงรู้สึกปวดเมื่อยและทำให้การทำสมาธิไม่ต่อเนื่อง จึงสังเกตท่าทางของสัตว์ต่างๆ เช่น นกกระเรียน เสือ และนำมาฝึกเป็นวิชาต่อสู้ (บางแนวคิดเชื่อว่าเพื่อฝึกไว้ต่อต้านผู้ที่ไม่หวังดี และผู้ที่เสียผลประโยชน์) ภายหลังจึงเกิดแนวคิดการถ่ายทอดตำแหน่งผ่านทางจีวรและบาตร

ในสมัยราชวงศ์สุย ภิกษุเสวียนจั้ง นามเดิมว่า เหี้ยนจัง ได้ออกบวชตามพี่ชายทั้งสองและเกิดความรู้สึกว่าพระคัมภีร์ยังไม่สมบูรณ์ ยังมีที่ไม่เข้าใจหรือแปลคลาดเคลื่อนอยู่มาก จึงออกจาริกเดินทางเพื่อไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ประเทศอินเดีย

โดยพระเสวียนจั้งออกเดินทางไปกลับเป็นระยะทางกว่า 50,000 ลี้ และศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในยุคนั้น โดยใช้เวลากว่า 19 ปี ท่านได้จดบันทึกการเดินทางไว้ตลอดซึ่งเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ทำให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ก่อนที่จะอัญเชิญพระไตรปิฏกกลับมาและดำเนินการแปล การกลับมาของท่านได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากจักรพรรดิถังไท่จง พระองค์พระราชทานแซ่ให้ โดยเรียกกันว่า “พระถังซำจั๋ง” ซึ่งต่อมามีผู้นำเรื่องราวการเดินทางของท่านไปแต่งเป็นนวนิยายเรื่อง ไซอิ๋วที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในสี่วรรณกรรมชั้นยอดของจีน

พระพุทธศาสนานั้นอยู่คู่กับแผ่นดินจีนมาโดยตลอด มีการสร้างวัดวาอารามต่างๆ มากมาย ทั้งที่เป็นวัดหลวงและวัดราษฏร์ บางช่วงที่พระจักรพรรดิสนับสนุนพระพุทธศาสนาก็เจริญขึ้นสลับกับลัทธิอื่นๆ จนมาถึงสมัยสาธารณรัฐจีน รัฐบาลไม่ได้สนับสนุนพระพุทธศาสนา อีกทั้งยังโจมตีและลดบทบาทอีกด้วย มีการนำวัดวาอารามไปใช้เป็นที่ทำการ สถานที่ราชการ จนพระอาจารย์ไท้สู ได้ริเริ่มฟื้นฟูพระพุทธศาสนา และมีการก่อตั้งพุทธสมาคมแห่งประเทศจีนขึ้น จึงเริ่มมั่นคงขึ้นในระดับหนึ่ง

เมื่อประเทศจีนเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งหลักการดังกล่าวขัดกับพระพุทธศาสนาหลายประการ แต่ในช่วงแรกศรัทธาของประชาชนยังมีมาก ทางรัฐบาลจึงไม่ใช้ความรุนแรง

แต่เมื่อเวลาผ่านไปจึงมีการออกมาตรการหลายอย่างบีบบังคับให้พระภิกษุต้องลาสิกขา ริบทรัพย์สินวัดวาอารามเพื่อเป็นสถานที่ราชการ และยิ่งเลวร้ายขึ้นเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2509-2512  ที่รัฐบาลได้ยึดวัดเป็นของราชการ ห้ามประกอบศาสนกิจต่างๆ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาถือเป็นความผิดกฎหมาย พระภิกษุถูกบังคับให้ลาสิกขา พระคัมภีร์ต่างๆ ถูกเผา พระพุทธรูปและวัดถูกทำลายไปเป็นอันมาก ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ ทำให้พระพุทธศาสนาเกือบสูญสิ้นไปจากประเทศจีนจนกระทั่งประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน เหมา เจ๋อ ตุง ถึงแก่อสัญกรรม รัฐบาลใหม่จึงค่อยคลายความเข้มงวดลง และให้เสรีภาพในการนับถือศาสนามากขึ้นจนถึงปัจจุบัน