วันเช็งเม้ง หรือ เทศกาลเช็งเม้ง เป็นการทำพิธีเซ่นไหว้และปัดกวาดหลุมศพบรรพบุรุษ โดยถือว่า เป็นประเพณีที่มีความเกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมการฌาปนกิจศพ เนื่องจากตามบันทึกทางประวัติศาสตร์เคยกล่าวไว้ว่า “สร้างหลุมศพไม่ต้องสร้างเนินสุสาน” ดังนั้น จึงไม่เคยมีบันทึกถึงการทำความสะอาดเนินสุสานมาก่อน
แต่ในเวลาต่อมา เมื่อเริ่มมีความนิยมสร้างหลุมศพโดยสร้างเนินสุสานด้วยในภายหลัง จึงทำให้ประเพณีการเซ่นไหว้ที่สุสานเกิดขึ้น จนกลายเป็นประเพณีที่ละเว้นไม่ได้มาจนถึงปัจจุบันนี้ และในวันเช็งเม้ง 2560 ตรงกับวันที่ 4 เมษายน
[highlight]ตำนานการเกิดวันเช็งเม้ง[/highlight]
ในยุคชุนชิว องค์ชายฉงเอ่อแห่งแคว้นจิ้น หนีภัยออกนอกแคว้นไปมีชีวิตตกระกำลำบากนอกเมือง โดยมีเจี้ยจื่อทุยติดตามไปดูแลรับใช้
เจี้ยจื่อทุยมีจิตใจเมตตาถึงขนาดเชือดเนื้อที่ขาของตนเป็นอาหารให้องค์ชายเสวยเพื่อประทังชีวิต ภายหลังเมื่อองค์ชายฉงเอ่อเสด็จกลับเข้าแคว้นและได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองแคว้น นาม จิ้นเหวินกง และได้สถาปนาตอบแทนขุนนางทุกคนที่เคยให้ความช่วยเหลือตน แต่ลืมเจี้ยจื่อทุยไป นานวันเข้าจึงมีคนเตือนถึงบุญคุณเจี้ยจื่อทุย จิ้นเหวินกงเพิ่งนึกขึ้นไป จึงต้องการตอบแทนบุญคุณเจี้ยจื่อทุย โดยจัดหาบ้านให้เขาและมารดาให้เข้ามาอยู่อย่างสุขสบายในเมือง แต่ทว่าเจี้ยจื่อทุยปฏิเสธ
จิ้นเหวินกงได้คิดแผนเผาภูเขา โดยหวังว่าเจี้ยจื่อทุยจะพามารดาออกมาจากบ้าน แต่ผลสุดท้ายกลับไม่เป็นไปอย่างที่คิด สองแม่ลูกกลับต้องเสียชีวิตในกองเพลิง ดังนั้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงเจี้ยจื่อทุย จิ้นเหวินกงจึงมีคำสั่งให้วันนี้ของทุกปี ห้ามไม่ให้มีการก่อไฟ และให้รับประทานแต่อาหารสด ๆ และเย็น ๆ จนกลายเป็นที่มาของเทศกาลวันกินอาหารเย็น หรือ เทศกาลหันสือเจี๋ย (寒食节) ซึ่งเป็นวันสุกดิบก่อนวันเช็งเม้ง 1 วัน
เนื่องจากคนโบราณนิยมถือปฏิบัติกิจกรรมตามประเพณีวันหันสือเจี๋ยต่อเนื่องไปจนถึงวันเช็งเม้ง นานวันเข้าเทศกาลทั้งสองก็รวมเป็นวันเช็งเม้งวันเดียว การไหว้เจี้ยจื่อทุยจึงค่อย ๆ เปลี่ยนมาเป็นการไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษแทน
[highlight]ความสำคัญวันเช็งเม้ง[/highlight]
วันเช็งเม้ง ถือว่าเป็นประเพณีที่สำคัญมากที่สุดของของชาวจีน เนื่องจากเป็นประเพณีที่แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วของชาวจีน โดยก่อนวันพิธีจะมีการทำความสะอาดหลุมฝังศพของบรรพบุรุษ
[highlight]การทำพิธีเช็งเม้ง[/highlight]
ให้ผู้อาวุโส เป็นผู้นำกราบไหว้ และเมื่อเทียนใกล้หมดก้านก็ให้ลูกหลานตีวงล้อมด้วยหวาย เผา กระดาษเงิน กระดาษทอง ฯลฯ เป็นการกำหนดขอบเขตว่า สิ่งเหล่านี้ลูกหลานส่งให้บรรพบุรุษของครอบครัวนั้น ๆ เป็นการเฉพาะ เพื่อป้องกันการแย่งชิง ( ผู้ตีวงล้อม ต้องเป็นลูกหลานเท่านั้น )
ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นพิธีแล้ว บางครอบครัวอาจจะมานั่งล้อมวงทานอาหารกันต่อ เพื่อแสดงความสมานสามัคคีแก่ บรรพบุรุษ
[highlight]ประโยชน์ของการไป ไหว้บรรพบุรุษ วันเช็งเม้ง[/highlight]
1. เพื่อรำลึกถึงคุณความดี ที่บรรพบุรุษของเราได้กระทำไว้ ได้ดูแลเรา ลำบากเพื่ื่อเราให้มีความเป็นอยู่ที่ดี เป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิต “เราสบาย เพราะพ่อแม่ บรรพบุรุษลำบาก”
2. เป็นศูนย์รวมตระกูล ผังตระกูล โดยทั่วไป การไหว้ที่ดีที่สุด ต้องนัดหมายไปไหว้พร้อมกัน (วันและเวลาเดียวกัน) ทำให้ลูกหลานที่อยู่กระจายกันไป ได้มาพบปะ สังสรรค์กันพร้อมหน้า เป็นการสร้างความสามัคคี สร้างจุดศูนย์รวม กล่าวได้ว่าเป็น “วันรวมญาติ”
3. เป็นกรอบถนนชีวิตของลูกหลานทุกคน “พ่อแม่ตายแล้ว ยังกำหนดชะตาชีวิตลูกหลาน” เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต เน้นความกตัญญูที่มีต่อบุพการีและลูกหลานควรปฏิบัติตาม
4. เป็นการเตือนสติตน ความตายต้องเกิดขึ้นกับทุกคน และเป็นธรรมดาของมนุษย์ปุถุชน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าปัจจุบันรูปแบบการไหว้วันเช็งเม้งของชาวจีนในแต่ละพื้นที่ จะต่างกันออกไป แต่เชื่อว่า ความหมายของ “วันเช็งเม้ง” ยังคงเรื่องของการรำลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว อีกทั้ง ยังเป็นการสร้างตระหนักรู้แก่ลูกหลานรุ่นหลังให้เห็นประวัติและคุณงามความดีของบรรพบุรุษที่ทำให้ลูกหลานมีชีวิตที่ดีเช่นทุกวันนี้